วัยรุ่นเกย์ฆ่าตัวตาย


นสพ. กรุงเทพธุรกิจ หน้าม่านมายา 7 ต.ค. 2010 วิทยา แสงอรุณ
facebook.com/vitayas

สังคมอเมริกันกำลังสั่นสะเทือนด้วยเหตุวัยรุ่นเกย์ฆ่าตัวตายเป็นใบไม้ร่วง เดือนกันยายนเพียงเดือนเดียวตายไปแล้วสี่ เท่าที่มีการบันทึกไว้

สาเหตุหลักก็คือ ถูกเพื่อนล้อ กลั่นแกล้ง และข่มเหงไม่ว่าจะในรูปแบบคำพูดหรือการกระทำ

ด.ช. อัชเชอร์ บราวน์ จากรัฐเท็กซัส วัย 23 ยิงกบาลตัวเอง ผู้ปกครองบอก น้องโดนเพื่อนล้อว่าเป็นตุ๊ด เป็นแต๋วอยู่เป็นประจำจนในที่สุดหมดความอดทนขอลาโลกไป ที่รัฐอินเดียน่า ด.ช. บิลลี่ ลูคัส วัย 15 แขวนคอตายสมใจ ส่วนที่รัฐมินิโซต้า ด.ช. เซท วอล์ชต้องนอนแซ่วอยู่โรงพยาบาล 8 วัน และเสียชีวิตไปหลังพยายามแขวนคอตาย

และรายล่าสุดที่ทำให้ครู ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่รัฐหันมาพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังก็คือ กรณีของ
นายไทเลอร์ คลิเมนติ นักศึกษาปีหนึ่ง เพิ่งเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐนิวเจอร์ซีย์ “รัทเกอร์ ยูนิเวอร์ซิตี้” ที่กระโดดสะพานตายหลังเครียดที่พบว่า เพื่อนร่วมห้องแอบเปิดเว็บแคมแล้วบันทึกวิดีโอขณะที่เขากำลังมีอะไรกับเพื่อนชายอีกคนในห้องนอน เพื่อนร่วมห้องเอาวิดีโอขึ้นเน็ต แล้วป่าวประกาศให้ชาวเน็ตแห่มาดูกัน

ไทเลอร์แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่เขาก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อไปได้อีก ความเครียด ความอาย และการที่เขายังไม่พร้อมจะบอกที่บ้านหรือใครๆ ว่า เป็นเกย์ทำให้ในคืนวันหนึ่ง เขาเอาโน้ตบุ๊ค และมือถือเดินไปที่สะพาน (สะพานขนาดใหญ่เหมือนสะพานพุทธ) โพสต์ข้อความอำลาบนเฟซบุ้คว่า
“กำลังจะโดดสะพาน ผมขอโทษ” แล้วเขาก็โดดลงไปจริงๆ อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่ถึงจะพบศพของเขา

กรณีไทเลอร์สร้างกระแสแรงที่สุดในบรรดาผู้เสียชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ความตายของเขาเกี่ยวข้องกับชีวิตบนไซเบอร์สเปซ

นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ต่างออกมาให้ความเห็นว่า การที่โลกไซเบอร์ ซึ่งตอนนี้มี Facebook มี Twitter มี Webcam ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้คนแยกแยะความเป็นส่วนตัวกับความเป็นจริงไม่ออก โดยเฉพาะเยาวชนที่ยังขาดการยั้งคิด

เพื่อนร่วมห้องของไทเลอร์ และเพื่อนของหนุ่มคนนั้นซึ่งเป็นผู้หญิงเจ้าของคอมพ์ที่ใช้นั่งดูไทเลอร์กับผู้่ชายอีกคนมีเซ็กซ์กัน ตอนนี้โดนตั้งข้อหาละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และมีสิทธิ์โดนจำคุกหลายปี แต่หลายฝ่ายเห็นว่า ทั้งสองทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ทำไปเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสนุกที่จะป่าวประกาศให้ใครๆ มาดูคนสองคนมีเซ็กซ์กันทางออนไลน์
แต่เรื่องนี้มีประเด็นเรื่องการเป็นเกย์วัยรุ่นปนอยู่ด้วย ไม่ใช่เรื่องไซเบอร์สเปซแต่อย่างเดียว

จากการศึกษาพบว่า วัยรุ่นที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน กะเทย มีอัตราความเสี่ยงจะฆ่าตัวตายสูงกว่าวัยรุ่นชายหญิงทั่วไป เพราะความกดดันที่ต้องปกปิดตัวเอง คนที่ตัวเล็ก ดูอ่อนแอ หรือคนที่เกิดมาแล้วอ้อนแอ้น ดูเป็นหญิง มักจะเป็นเป้าให้โดนล้อเสมอ ซึ่งปกติ คนอ้วน คนผอม คนอ่อนแอ ก็มักโดนเพื่อนแกล้งอยู่แล้ว และหากเป็นเด็กโฮโมเซ็กช่วลด้วย ก็จะยิ่งโดนหนัก

ส่วนเกย์ที่ไม่ได้แสดงออก เป็นหนุ่มแข็งแรง หล่อเหลา หรือเป็นนักกีฬาโรงเรียนก็จะเอาตัวรอดได้ไม่ยาก นั่นคือ แอบไว้ให้สนิท ถ้าไม่สนิท ก็จะโดนแกล้งอย่างแน่นอน วิธีการอย่างหนึ่งที่จะ “เนียนๆ” หรือเรียกว่า “ตามน้ำ” เอาชีวิตรอดไป นั่นก็คือ ต้องหันไปร่วมแกล้งเด็กที่เป็นเกย์ตามเพื่อนด้วย เพื่อนแกล้ง กรูก็แกล้ง เตะ ต่อยซ้ำเข้าไปเพื่อแสดงว่า “กรูไม่เป็น”

ความตายของไทเลอร์ นักศึกษาปีหนึ่งซึ่งเป็นนักไวโอลินที่มีพรสวรรค์ทำให้คนดังทั้งเป็นเกย์ เลสเบี้ยนและไม่ใช่ ต่างออกมาแสดงความเห็นและเรียกร้องให้สังคมหันมาจริงจังกับเรื่องนี้ได้แล้ว

จริงๆ แล้ว การกลั่นแกล้ง ข่มเหง ดูถูกด้วยวาจาหรือการกระทำที่เรีกกว่า “bully” มีมานานแสนนานและมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือ ป้องกัน และเป็นที่พึ่งให้เด็กที่เจอปัญหาเหล่านี้ แต่คำถามก็ยังเกิดขึ้นว่า แล้วทำไมเด็กเหล่านี้ไปเข้าไปหาที่พึี่งเหล่านี้ล่ะ?

อย่าลืมนะครับว่า อเมริกาเป็นประเทศใหญ่ และเด็กหลายคนที่เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน ความช่วยเหลือไม่ได้มีทุกที่ คนที่มีความหลาดกลัวมีอยู่ และสำคัญกว่านั้น คือ ยอมรับตัวเองไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่ง เด็กเหล่านี้คิดว่า สิ่งที่เป็นเป็นสิ่งที่สังคมรังเกียจ ตั้งแง่ และมีปัญหาตามมาถ้าเขาจะเปิดเผยตัว สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้วัยรุ่นเหล่านี้ ไม่มีที่พึ่ง

กรณีของไทเลอร์ เขาหันไปพึ่งเว็บบอร์ดเกย์ โดยใช้ชื่อปลอม คนที่ได้อ่านข้อความที่เขาโพสต์ไว้จะพบว่า เขายังรู้สึกอยู่เลยว่า สิ่งที่เขาโดนกระทำ “มันไม่เป็นไรหรอก” เพราะเขาเป็นเกย์ อาการอย่างนี้เรียกว่า ยังเป็นคนที่มี “internalized homophobia” อยู่สูง

หมายความว่า มีคนที่เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยนเองที่ไม่รู้สึก “เคารพตัวเอง” และยังเกลียดกลัวสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ พอโดนแกล้ง โดนกระทำ ก็ไม่ต่อสู้เรียกร้องอะไร ปล่อยๆ ไปเพราะคิดว่า สมควรแล้ว ชาตินี้เกิดมามีกรรมให้คนแกล้งซะ ซ้ำเติมตัวเองอยู่อย่างนั้น

การที่คนเป็นโฮโมเซ็กช่วลมีอาการ “internalized homophobia” สูงๆ เช่นนี้ ชีวิตของพวกเขาจะมีปัญหาอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น โดยเฉพาะการมีคู่ เพราะในที่สุด เวลาที่ปัญหากัน แม้เพียงเล็กน้อย คนเหล่านี้จะไม่มองให้ทะลุว่า จริงๆ แล้วปัญหามันอาจจะมาจากตัวเราเองที่ยังไม่ได้ แก้ปม “internalized homophobia” ของตัวเองนั่นเอง
จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า เรามักจะได้ยินเกย์ เลสเบี้ยน บ่นเสมอว่า หารักแท้ไม่เจอ จริงๆ แล้ว หลายคนยังหา “ตัวเอง” ไม่เจอต่างหาก

ล่าสุด เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นไม่ให้มีกรณีเกย์วัยรุ่นซึ่งน่าจะเติบโตเป็นกำลังของชาติบ้านเมืองที่ดีต้องฆ่าตัวตายเพิ่มอีก นักแสดง คนดังหลายคนเลยร่วมสนับสนุนโครงการที่ช่ื่อว่า “It’s get better” ไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือคนทั่วไป ที่ตอนนี้โตแล้ว “รอดพ้น” จากวิกฤติชีวิตตอนเรียนประถม มัธยม มหาวิทยาลัยแล้ว ต่างบันทึกวิดีโอแล้วส่งมารวมกันภายใต้โครงการนี้ พวกเขาเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เคยโดนแกล้งสมัยเด็ก คุณอาจจะเคยโดนมาบ้างหรือเคยทำกับคนอื่นมาบ้าง แวะไปศึกษากันครับที่ http://itgetsbetter.org

ตอนเด็กๆ ผมก็โดนแกล้งเหมือนกัน
………………………………………….
วิทยา แสงอรุณ เป็นโปรดิวเซอร์ และนักเขียนอิสระ ปัจจุบันผลิตรายการ Pink Mango ทาง Mango Channel ทุกคืนวันเสาร์ เวลาใหม่ ห้าทุ่ม http://www.facebook.com/vitayas และรายการวิทยุ Bangkok Radio For Men FM102 วันอาทิตย์ สี่ทุ่มถึงเที่ยงคืน

8 thoughts on “วัยรุ่นเกย์ฆ่าตัวตาย

  1. บรรทัดที่ 8 เขียนผิด ป่าว ?

    ด.ช.อัชเชอร์ บราวน์ วัย 23 *** น่าจะเป็น วัย 13 มากกว่านา…

    ชอบ ย่อหน้าที่ 3 นับจากข้างล่าง : ประเด็น Internalized Homophobia …

  2. น่าเสียใจจริง ยังเด็กอยู่เลยไม่ทันเห็นโลกอีกมากมาย แต่ก็คิดอีกมุมหนึ่งว่าอินเตอร์เน็ตได้ช่วยเปิดโลกให้เราค้นหาและเข้าใจว่ามีคนที่ไม่เหมือนกันอยู่เยอะมาก ไม่ใช่มีเฉพาะผู้หญิงและผู้ชายเท่านั้น หากสื่อมวลชนคิดแต่แง่ลบของเทคโนโลยี ประเดี๋ยวไอซีทีได้ทีก็ตามปิดเว็บกันให้วุ่นอีก

  3. ตอนเด็กๆ ก็เคยโดนล้อเหมือนกัน
    แต่พอดีเป็นนิโคล (ชั้นก็สู้คน) เลยลุกขึ้นไปต่อยเพื่อนผู้ชายที่ล้อ
    หลังจากนั้นก็มีชีวิตสงบสุขดี
    ยังมีมาล้อบ้าง แต่บังเอิญเปลี่ยนลุกส์เป็นมาช่า สวย เริ่ด เชิ่ด หยิ่ง
    เลยไม่สนใจมันอีกอ่ะ ฮ่าๆๆ

  4. นี่ขนาดประเทศที่ว่ากันว่า เสรีภาพ ทั้งทางการเมืองและความคิดอย่างสุดๆแล้ว ปัญหานี้ก็ยังมี และถ้าประเทศที่ไม่มีเสรีภาพทางความคิดอย่างประเทศนี้จะเหลืออะไร?

    ผมว่าไอ้ที่รณรงค์กันมาหลายๆประเทศ เช่น รักร่วมเพศแต่งงานกันได้ มีลูกบุญธรรมได้ ผมว่ามันก็แค่แก้ปัญหาเพียงเปลือกเพียงกระพี้ แต่สุดท้ายปัญหาจริงๆที่เราควรพิจารณาก็คือ รากฐานทางความคิดของคนในสังคม ที่ยังมีอคติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมั่นคงมาก และถ้าจะัแก้ก็คงอาศัยระยะเวลานาน อาจเป็นร้อยๆปี เพราะปัญหาเกย์ เลสเบี้ยน มีมานานมากแต่ก็ยังไม่เห็นทางออกเลยในปัจจุบัน

    ในบทความนี้(และเท่าที่ตามอ่านมา) ผมรู้สึกว่าคุณวิทยา ไม่ค่อยตีเป้าไปที่สังคมเท่าไร(หรือตี แต่ในความรู้สึกของผมคือมันไม่พอ) พร้อมพยายามมุ่งบอกให้เกย์ เลส แสดงออก, ยอมรับตัวเอง ปัญหาก็คือไม่มีเครื่องยืนยันว่าแสดงออกแล้วมันจะไปรอดไหม และรักร่วมเพศหลายคนที่ไม่แสดงออกเพราะสังคม แต่ก็ยอมรับตัวเอง มีจำนานมากเหมือนกัน

    ที่ผมอยากเสนอก็คือ ปัญหาบางปัญหา เราเฝ้าแต่บอกให้เราแก้ที่ตัวเราเอง ทั้งที่ปัญหาอยู่ที่สังคม หรืออะไรก็ตาม การต่อสู้ของเราไม่ควรเรียกร้องได้แค่สิทธิการแต่งงาน หรือมีลูก แต่เราต้องปฏิวัติความคิดของสังคมเลย

  5. ผมสจ๊วตการบินไทยครับ ขออาสาเป็นตัวอย่างเกย์ที่มีชีวิตที่ดีเองครับ นล อินทะนินครับ

  6. ผมเป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชาย ใครจะเรียกว่าอะไรก็เชิญ ใครเล่าจะกล้าเรียกผมว่าเกย์ ฯลฯ เพราะว่าผมก็ผู้ชายธรรมดา ภูมิใจในตัวเองครับ

ส่งความเห็นที่ zoe ยกเลิกการตอบ